สำหรับคนที่กำลังหาซื้อหูฟังมาใช้ฟังเพลงง่ายๆ ร่วมกับสมาร์ทโฟน แต่ยังไม่รู้วิธีเลือกหูฟังที่ปัจจุบันมีแบรนด์ต่างๆทำออกมาขายกันเต็มไปหมดไม่รู้จะเลือกอันไหนดี วันนี้เรามี 6 วิธีพื้นฐานในการเลือกซื้อหูฟังมาแนะนำกัน
1.ลองหูฟังด้วยตัวเองก่อนซื้อทุกครั้ง
สิบปากว่าก็ไม่เท่าตัวเองฟัง มีหลายๆ คนที่ไปอ่านรีวิวหูฟังตามเว็บไซต์ต่างๆ แล้วก็เดินไปซื้อในร้านทันทีที่เจอหูฟังที่คิดว่าน่าจะดีจากการไปอ่านรีวิวมา โดยบางร้านก็ไม่มีหูฟังตัว demo ให้ลองฟังก่อน พอซื้อมาแล้วก็ไม่ถูกใจ เพราะฉะนั้นควรจะซื้อจากร้านที่มีหูฟัง demo ให้ลองก่อน ซึ่งถ้าลองแล้วซื้อกลับมาฟังยังรู้สึกว่าทำไมตัวที่ซื้อมาเสียงไม่เหมือนกับตัวที่ลองฟัง อาจเป็นเพราะว่าหูฟังใหม่ของเรายังไม่ผ่านการใช้งานมาก่อน ชิ้นส่วนต่างๆอย่างไดอะแฟรมซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เกิดเสียงก็ยังมีความยืดหยุ่นไม่มาก พอใช้งานตามปกติไปประมาณ 100 ชั่วโมงเสียงก็จะดีขึ้น เรียกว่าเป็นการเบิร์นหูฟังนั่นเอง (แนะนำว่าอย่าใช้ไฟล์พวก pink noise มาเบิร์นหูฟัง จะทำให้หูฟังเสียหายได้ครับ)
2.เลือกแนวเสียงที่ตัวเองชื่นชอบ
ไม่มีหลักเกณฑ์อะไรที่ตายตัวว่าเพลงแนวนี้จะต้องเลือกใช้หูฟังที่มีแนวเสียงแบบนี้เท่านั้น จริงอยู่ที่ว่าเพลงบางแนวเช่น electronic/dance หรือฮิปฮอป ควรจะใช้หูฟังเบสหนักๆ ฟังถึงจะสนุก หรือพวกเพลงโอเปร่าที่จะเน้นเสียงย่านกลางแหลมที่ชัดเจนจัดจ้านเป็นหลัก แต่สุดท้ายแล้วถ้าเสียงหูฟังที่ซื้อมาไม่ถูกใจคนใช้ก็คงจะไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปอยู่ดี จึงต้องถามตัวเองก่อนไปเลือกซื้อว่าต้องการเสียงประมาณไหนจึงจะพอใจ ซึ่งแนวของหูฟังเองก็จะมีหลายแบบ ทั้งพวกที่เน้นเบสหนักๆ หรือบาลานซ์แนวกลางๆ ไปจนถึงแนวที่เน้นความใส ลองเทียบง่ายๆ ก็เอาเพลงที่เราฟังบ่อยๆ ไปลองกับหูฟังหลายๆ แบบ ก็จะรู้สึกได้ว่าเวลาฟังแล้วเสียงที่ได้มันต่างกัน
3.เลือกประเภทหูฟังให้เหมาะสมกับการใช้งาน
ถ้าแบ่งประเภทหูฟังตามรูปร่างและขนาดจะแบ่งได้ประมาณ 5 ประเภทหลักๆดังนี้
หูฟัง earbud
เป็นหูฟังที่เราเห็นกันมาตั้งแต่ยุค Sony Walkman ที่เป็นเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ทเคลื่อนที่ พกพาสะดวก สวมใส่ง่าย แต่มีข้อเสียตรงที่มันไม่เก็บเสียง ทำให้เวลาฟังเพลงหรือรายละเอียดที่ได้อาจจะไม่ครบเวลาเราอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดัง
หูฟัง in-ear
หูฟังที่มีจุกยาง (หรือจุกโฟม) ใส่เข้าไปในรูหูของเรา ทำให้เราแทบไม่ได้ยินเสียงรบกวนรอบข้างเลย ทำให้ได้ยินเนื้อเสียงและรายละเอียดต่างๆ ได้ดีกว่าหูฟัง earbud แต่ข้อควรระวังคือเวลาใส่เดินตามถนน เพราะเราจะไม่ได้ยินเสียงรถหรือสิ่งต่างๆ ภายนอกเลย ทำให้เกิดอันตรายได้ (จริงๆ ขนาดของตัวจุกยางหรือจุกโฟมก็มีผลต่อการฟังเพลงและการขับเสียงด้วย แต่เดี๋ยวจะยาว ติดเอาไว้ก่อนละกัน)
หูฟัง ear clip
เป็นหูฟังที่เราไม่ค่อยจะได้เห็นกันแล้วในสมัยนี้ โดยเมื่อก่อนจะมีรุ่นดังๆอย่าง Koss KSC35 ซึ่งหาซื้อได้ค่อนข้างยากแล้ว และก็ไม่ค่อยมียี่ห้อไหนผลิตออกมาด้วย
หูฟัง on-ear
เป็นหูฟังขนาดใหญ่ที่มีตัวโฟมวางอยู่บนใบหู มีขนาดไดรเวอร์ที่ใหญ่กว่าหูฟัง earbud และ in-ear มาก ทำให้จำลองเสียงออกมาได้ดี มีสเตจที่กว้างกว่าหูฟัง 3 ประเภทด้านบน (แต่ก็ไม่เสมอไป) หลายๆ แบรนด์ออกแบบหูฟังนี้ให้พับเก็บเล็กๆได้ น้ำหนักเบา ใส่กระเป๋าพกพาสะดวก
หูฟัง over-ear
หลายๆ คนเรียกหูฟังประเภทนี้ว่าหูฟังแบบครอบหู โดยตัวโฟมหูฟังมีขนาดใหญ่ครอบหูทั้งใบของเราไว้ มีขนาดไดรเวอร์ใหญ่ที่สุดในหูฟังทั้ง 5 ประเภท แต่มีขนาดตัวหูฟังที่ใหญ่เทอะทะหน่อย แต่แน่นอนว่าได้สเตจกว้างสุดกว่าทุกประเภท แรกๆ ตัวหูฟังนั้นใหญ่และหนักจนส่วนมากจะเอาไว้ฟังที่บ้านกัน แต่หลังๆ จะเห็นว่ามันกลายเป็นแฟชั่น หลายๆ คนก็ใส่ออกมาเดินตามท้องถนนกันเยอะไม่แพ้แบบ on-ear
ยังมีหูฟังรูปร่างอื่นๆ อีกอย่างเช่น Custom IEM (Custom In-Ear Monitor) ที่เป็นหูฟังสั่งทำอีกด้วยแต่ว่าตอนนี้เราจะพูดถึงแค่หูฟังที่หาซื้อสำเร็จได้ทั่วไปก่อนครับ
4.ทำความรู้จักกับชนิดของไดรเวอร์
ไดรเวอร์เป็นส่วนที่ให้กำเนิดเสียงที่ใช้ในหูฟังส่วนใหญ่จะเป็นไดรเวอร์แบบที่เรียกว่า dynamic โดยเป็นไดรเวอร์ตัวเดียวแต่สามารถให้กำเนิดเสียงได้ทุกย่านความถี่ คือรับผิดชอบไปตั้งแต่เบส กลาง แหลม
ไดรเวอร์แบบ balanced armature
ซึ่งจะต่างจากไดรเวอร์แบบ balanced armature ที่อยู่ในหูฟังประเภท IEM (In-Ear Monitor) ตรงที่ไดรเวอร์แต่ละตัวจะรับผิดชอบเสียงในย่านต่างๆ โดยแต่ละข้างของหูฟังประเภทนี้ก็จะมีไดรเวอร์อยู่หลายตัวเลยทีเดียว อาจเขียนตามกล่องว่า dual, triple driver ซึ่งก็หมายความว่าหูฟังแต่ละข้างมีไดรเวอร์ 2 และ 3 ตัวอยู่นั่นเอง (มีตั้งแต่ 2-12 ตัว) ก็จะทำให้ผู้ผลิตสามารถนำไดรเวอร์ที่เด่นในย่านต่างๆ มาใส่และการแยกชิ้นเครื่องดนตรีต่างๆ ดียิ่งขึ้นอีกด้วย อย่างเช่น Westone Am Pro 20 (Dual Driver) และ 30 (Triple Driver)
5. มีสายหรือไร้สาย? เทคโนโลยีการเชื่อมต่อของหูฟังไร้สาย
ในตลาดหูฟังทั่วไปก็จะมาพร้อมแจ็ค 3.5 ซึ่งใช้งานสะดวก หยิบขึ้นมาเสียบก็พร้อมฟังทันที ข้อดีคือคนยังชอบและเชื่อกันว่าเสียงจากระบบ Analog ที่ผ่านมากับสายสัญญาณนั้นเสียงดีกว่าแบบไร้สาย ก็จะนิยมใช้งานแบบมีสายกันอยู่